EasyBlog

This is some blog description about this site
วิธีเอาตัวรอดกับรีโมทแอร์ภาษาญี่ปุ่น

ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาด้านภาษาญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่หลายๆคนถอดใจหรือกลัวจะคุยกับคนญี่ปุ่นไม่รู้เรื่องจนบางคนไม่กล้ามาก็มี แต่โอทารุอยากบอกว่า ทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลมากๆแล้วครับ ภาษาอังกฤษ จีนกลาง หรือเกาหลี เริ่มเข้ามามีอยู่ตามป้ายสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือแม้กระทั่งในสถานีรถไฟใหญ่ๆก็ตาม ส่วนภาษาไทยก็เริ่มจะปรากฎให้เห็นตามเว็บไซต์ท่องเที่ยวหรือแม้กระทั่ง "เมนูภาษาไทย" ในร้านอาหารที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมไปด้วยซ้ำ ดังนั้น ใครที่คิดว่าญี่ปุ่นเที่ยวยากแหงๆเพราะพูดกันไม่รู้เรื่องล่ะก็.....ลดความกังวลเรื่องนี้ไปเยอะๆเลยครับ เดี๋ยวนี้เที่ยวง่ายขึ้นมาก!

อารัมภบทมาตั้งนาน วันนี้โอทารุจะมาแนะนำการแปล "รีโมทแอร์" ที่มักจะเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ แถมเป็นคันจิซะด้วย ให้เพื่อนๆที่น่ารักของผมได้นำไปใช้ประโยชน์หรือจะเซฟไว้อ่านเวลาเดินทางไปเที่ยวก็ยินดีมากครับ เอาล่ะ มาเข้าสู่เนื้อหากันครับ!

สำหรับรีโมทแอร์ภาษาญี่ปุ่นนั้น เท่าที่ผมได้ไปพักตามสถานที่ต่างๆในญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่เราจะเจอในที่พักระดับปานกลางหรือเรียวกังที่ไม่ได้ใหญ่โตมากครับ กล่าวคือ โรงแรมแบบ Business Hotel, เรียวกังขนาดเล็ก หรือตามคอนโดมิเนียมที่ปล่อยให้คนเช่า เราจะมีโอกาส "จ๊ะเอ๋" กับรีโมทภาษาญี่ปุ่นล้วนมากที่สุดครับ ส่วนโรงแรมเชนใหญ่ๆ หรือที่เป็นเชน international มักจะมีภาษาอังกฤษให้ครับ (คือโอกาสที่จะเจอรีโมทที่ว่ามันน้อยกว่านั่นแหละครับ) 

แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า "เครื่องปรับอากาศ" ในญี่ปุ่น มีฟังก์ชั่นในตัวเยอะมาก คือ เป็นได้ทั้งแอร์เย็น ฮีทเตอร์ หรือเครื่องไล่ความชื้นก็ได้ครับ ถ้าบ้านเรานี่ ผมเชื่อว่าเกือบ 100% ของบ้านเราน่าจะใช้โหมดแอร์เย็นที่สุดล่ะครับ 

ทีนี้ถ้ามีใครถามว่า "มันสำคัญยังไง ทำไม(กรู)ต้องรู้ล่ะ" โอเค ผมจะบอกให้ก็ได้ว่าทำไม.....

1. ญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว อุณหภูมิจะอยู่ที่เลขหลักเดียวไปจนถึง "ต่ำกว่าศูนย์องศา" โดยเฉพาะฮอกไกโดที่เราๆท่านๆฮิตกันเนี่ย โอกาสเจอ -10 Celcius (ติดลบสิบองศา) ขอบอกเลยว่า "ไม่ใช่เรื่อง Amazing อะไรเลย" และความที่ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน การปรับตัวของร่างกายเราก็คงไม่สามารถปรับได้ฉับพลันแบบยอดมนุษย์แน่ๆ และนั่นก็หมายถึง คุณจะพาลเป็นไข้นอนซมจนไม่ได้เที่ยวถ้าร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทันน่ะสิครับ

เจอหิมะตกแบบนี้เข้าไป จะมีสักกี่คนที่ไม่ต้องการฮีทเตอร์ครับ?? (ถ่ายจาก Takayama) 

และที่ผมกล่าวมานั้น ก็คือจะสื่อว่าในห้องพักของเราในฤดูกาลที่ว่านี้ มันหนาวมากกกกกกกกกกกกกกกกกกนะ ถ้าเราไม่เปิดฮีทเตอร์ล่ะก็.....งานเข้าแน่นอน อนิจจา แม้เรารู้ว่าต้องเปิดฮีทเตอร์ แต่รีโมทมีแต่ตัวคันจิยุ่บยั่บไปหมด ภาษาอังกฤษก็ไม่มีให้อ่านสักตัว Host บางคนก็ไม่บอกอะไรเราเลย/พนักงานก็ไม่บอกสักคำ แล้วเราจะกดปุ่มไหนดี(ล่ะโว้ย).....สุดท้ายกดมั่ว ถ้ากดถูกก็โชคดี กดผิด ห้องก็หนาวเหมือนเดิมนั่นแหละครับ!!! ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะว่าทำไม(กรู)ต้องรู้

2. ญี่ปุ่นในฤดูร้อน บอกตรงๆว่า "บางวันร้อนกว่าเมืองไทยเสียอีก" และก็มีคนเสียชีวิตจากความร้อนทุกปี มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังนั้น การรู้ว่าหน้าร้อนต้อง กดปุ่ม "ทำความเย็น" ว่ามันคือคันจิตัวไหนจึงสำคัญมาก....คิดสภาพสิครับ อุณหภูมิของโตเกียวตอนสิงหาคมในช่วงกลางวันจะป้วนเปี้ยนแถว 32 องศา เกิดเราไปกดมั่วจนไปถูกปุ่ม "ฮีทเตอร์" แล้วเมื่อไหร่ห้องพักของคุณมันจะเย็นล่ะครับ ปัดโธ่!!!

และนี่ก็คือสองสาเหตุหลักที่ผมคิดว่า ทำไมเพื่อนๆจึงควรรู้คันจิเบื้องต้นของรีโมทแอร์เหล่านี้ล่ะครับ! 

มาเริ่มที่คันจิมาตรฐานที่เราจะมีโอกาสได้พบเจอกันเถอะ!!!

1. 冷房 อ่านว่า Rei-bou แปลว่า ทำความเย็น หรือ Air Conditioning

2. 暖房 อ่านว่า Dan-bou แปลง่ายๆ เลยว่า ทำความร้อน (ก็ฮีทเตอร์นั่นแหละ) 

3. 除湿 อ่านว่า Jo-Shit-su แปลว่า ไล่ความชื้น แต่บางครั้งคำนี้อาจใช้ ドライ แทนไปเลยครับ (คำนี้ก็คือ Dry ในภาษาอังกฤษไง) 

4. 自動 อ่านว่า Ji-dou แปลว่า อัตโนมัติ

5. 停止 อ่านว่า Tei-shi แปลว่า แปลว่า หยุด/ปิดเครื่อง 

สำหรับห้าคำนี้ ผมคิดว่าได้เจอกันบ่อยแน่ๆ เดี๋ยวดูรูปประกอบก็ได้ครับ!

อย่างไรก็ตามผมขอย้ำท่านผู้อ่านกันก่อนว่า "หน้าตารีโมทแต่ละรุ่นแต่ะยี่ห้ออาจแตกต่างกัน" ดังนั้น ไม่ต้องงงหรือโวยวายว่าทำไมภาพรีโมทที่ผมเอามาลงจึงไม่เหมือนที่ท่านไปเจอที่ญี่ปุ่นนะครับ...ขอร้อง! แล้วไหนๆก็พูดเรื่องคันจิกันแล้ว ผมแถมคำสั่งพิเศษอื่นๆให้ทราบไปด้วยเลยก็แล้วกัน จะได้ ครบ & จบในบล็อกเดียวเนอะ!

คำสั่งเพิ่มเติม

 

温度  อ่านว่า On-do แปลว่า อุณหภูมิ ซึ่งมันก็คือ เราปรับอุณหภูมิขึ้นลงเหมือนบ้านเรานั่นเองครับ

ハイパワー อ่านว่า Hai-pa-waa มาจากคำว่า High Power ในภาษาอังกฤษนั่นแล ก็คือ เร่งแอร์เต็มที่!

スイング  อ่านว่า Su-in-gu มาจากคำว่า Swing ในภาษาอังกฤษ (อีกแล้ว) ก็คือ ปรับโหมดสวิงทิศทางลมของนั่นเอง!

風向  อ่านว่า Fuu-kou มันคือ ปุ่มปรับทิศทางลมครับ

ランドリー อ่านว่า Ran-do-ri มันคือคำว่า Laundry ในภาษาอังกฤษครับ แน่นอนว่าเอาไว้เกี่ยวกับพวกตากผ้า

省パワー อ่านว่า Shou-pa-wa มันคือ โหมดประหยัดพลังงาน

風量切換 อ่านว่า Fuu-ryou-ki-ri-ka-e แปลง่ายๆ เลยว่า ระดับความแรงของลม 

送風 อ่านว่า Sou-fuu แปลว่า การระบาย

強風 อ่านว่า Kyou-fuu แปลว่า ลมแบบแรง

弱風 อ่านว่า Jya-ku-fuu แปลว่า ลมแบบเบา

微風 อ่านว่า Bi-fuu แปลว่า ลมอ่อนๆ 

静音 อ่านว่า Sei-on แปลว่า โหมดเงียบ

運転 อ่านว่า Un-ten แปลว่า เปิดเครื่อง 

จริงๆแล้วมีอีกหลายคำ แต่ผมเห็นว่า "แค่นี้ก็เพียงแล้ว" และก็เชื่อว่าถ้าเราไม่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นนานๆ ขอยืนยันว่า ถ้าแค่ไปเที่ยวจำแค่ 5 คำหลักด้านบนก็พอครับ ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นมาจะสิบครั้งก็ยังใช้แค่ไม่กี่คำสั่งเอง อีกอย่างบล็อกนี้เราเน้นการเอาตัวรอด ไม่หนาวตาย ไม่ละลายไปกับความร้อนของญี่ปุ่นอ่ะนะ ดังนั้นผมจึงคิดว่า เพียงพอแล้วล่ะครับ! ก็หวังว่าที่ผมเขียนมานี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันนะครับ สัปดาห์หน้าจะเป็นวันหยุดยาวด้วยก็ขออวยพรให้เพื่อนๆที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นได้พบเจอแต่ความสนุกสนานและหลงรักแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ร่วมกันกับผมนะครับ ^__^

-------------------------------------------------

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.survivingnjapan.com/2012/07/use-air-conditioner-japan.html

ภาพปกจาก http://www.anwo.cl/blog/

ภาพ Takayama ตอนหิมะตก จากพี่พ้อยต์ Tamolpan (ขอขอบคุณนะครับ)  

ภาพรีโมทอันแรก จาก http://2.bp.blogspot.com/-v2uiV8cElJw/UBKWX0-H3MI/AAAAAAAAGAM/YHHIidvk7YE/s1600/IMAGE_060F4301-6FF8-4066-A8C9-621C8309C79E.JPG

ภาพรีโมทอันที่สอง จาก https://blog.gaijinpot.com/wp-content/uploads/sites/4/2014/02/ac_remote.jpg

-------------------------------------------------

ติดต่อโอทารุผู้เขียนบล็อกนี้ได้อย่างไร?

หากเพื่อนๆมีข้อสงสัยเรื่องการท่องเที่ยวญี่ปุ่นแล้วอยากสอบถาม --> เชิญ add friend ทาง Facebook ครับ พิมพ์คำว่า Otaru Taichou ในช่องค้นหา เดี๋ยวว่างๆ ผมจะเข้าไป add เองครับ

พาชมปราสาทคุมาโมโต้ : 1 ปีหลังธรณีพิโรธ
รถบัสไร้คนขับแห่งอนาคตเริ่มทดสอบวิ่งแล้วที่คิวชู!